Saffron ช่วยเรื่องดวงตาอย่างไร
ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เกี่ยวข้องกับการช่วยดูแลบำรุงดวงตา หลากหลายยี่ห้อ แต่สุดท้ายแล้ว หากเราสังเกตดีๆจะพบว่า มีไม่กี่ชนิดที่เป็นตัวเอกของเรื่อง วันนี้จะพาเรามารู้จักอีกชนิดหนึ่ง ที่กำลังได้รับความสนใจ เพราะเริ่มมีงานศึกษาวิจัยที่พบว่ามีส่วนช่วยในการดูแลดวงตาค่ะ นั่นคือ Saffron หรือ หญ้าฝรั่น
ในงานวิจัยของทีมจักษุแพทย์ประเทศอิหร่าน ที่ได้ทำงานวิจัยในมนุษย์ที่ป่วยเป็นภาวะจอประสาทตาเสื่อมอันเนื่องมาจากอายุที่มากขึ้น (ซึ่งนับว่าน่าเชื่อถือได้ระดับหนึ่งเลยนะคะ เพราะเป็นการทำวิจัยในมนุษย์ที่ป่วยเป็นโรคจริงๆ ไม่ใช่ทำในสัตว์ทดลอง หรือแม้แต่เป็นเพียงการทดลองในหลอดค่ะ) โดยมีผู้เข้าร่วมวิจัยที่ป่วยเป็นภาวะจอประสาทตาเสื่อม 30 คน โดยแบ่งกลุ่มแบบสุ่ม กลุ่มหนึ่งได้รับผลิตภัณฑ์สารสกัดจาก Saffron และอีกกลุ่มได้ผลิตภัณฑ์ตัวหลอก (คือ ไม่มี Saffron) เมื่อจบงานวิจัยแล้ว สรุปว่า กลุ่มที่ได้รับสารสกัดจาก Saffron ในปริมาณ 30 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 6 เดือน มีแนวโน้มว่าจะมีส่วนช่วยในการทำงานของจอประสาทตาอย่างมีนัยสำคัญในผู้ป่วยที่มีภาวะจอประสาทตาเสื่อม
คำถามคือ เราได้อะไรจากงานวิจัยนี้บ้าง
สิ่งที่เราได้อย่างแรกคืออย่างน้อย Saffron ไม่ได้มีผลเสียต่อดวงตา ก่อให้เกิดอันตรายมากขึ้น (อย่างน้อย นั่นก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราสบายใจใช่ไหมคะ) อย่างต่อมา การรับประทานสารสกัดจาก Saffron มีส่วนช่วยเรื่องดวงตาในผู้ป่วยที่จอประสาทตาเสื่อม ซึ่งตรงนี้เขามีการชั่งตวงวัด ก็คือ มีการพิจารณาจากค่า
Optical coherence tomography (OCT) ซึ่งเป็นเครื่องวิเคราะห์ขั้วประสาทตา ชั้นของจอประสาทตา และจุดรับภาพ โดยใช้แสงเลเซอร์สแกนถ่ายภาพตามขวางเพื่อดูชั้นต่างๆ ของประสาทตาและดูความลึกของขั้วประสาทตา สามารถวิเคราะห์โรคของจอประสาทตาและโรคต้อหิน
Electroretinography (ERG) ซึ่งเป็นการวัดการตอบสนองทางไฟฟ้าของเซลล์ต่าง ๆ ในจอตารวมทั้งเซลล์รับแสงทั้งแบบแท่งและแบบกรวย เซลล์จอตาชั้นใน (retinal bipolar cell และ amacrine cell) และ retinal ganglion cell
Fluorescein Angiography ซึ่งเป็นการฉีดสี Fluorescein เพื่อตรวจดูเส้นเลือดและภาวะต่างๆของจอประสาทตา
Visual Acuity Test ซึ่งเป็นการตรวจความสามารถในการมองเห็นได้อย่างชัดเจน ที่ 3 และ 6 เดือน
จริงๆนอกจาก Saffron แล้ว ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในชนิดอื่น เช่น Lutein Zeaxanthin นั้น ก็มีการเก็บข้อมูลวิจัย ไปจนถึง การรวบรวมข้อมูลวิจัยหลายๆวิจัย มาสรุปอีกทีว่ามีส่วนช่วยในการดูแลดวงตาอย่างไรเช่นกันค่ะ โดยพบว่ามีช่วยในการปกป้องส่วนตัวรับแสงในเซลล์จอประสาทตาจากการทำลายของแสง โดยผ่านกลไกจากการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นอนุมูลอิสระที่มาจากกระบวนการทำงานในจอประสาทตานั่นเอง
คราวนี้กลับมาที่ตัวเราบ้าง ว่าวันนี้เราได้ดูแลดวงตาอย่างไร ในฐานะที่เป็นแพทย์ หมอเป็นคนหนึ่งค่ะ ที่จะไม่สนับสนุนให้ใครทำอะไรเพียงอย่างเดียว เช่นกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แล้วหวังใจว่า ดวงตาของเราจะดีเด้งแจ่มใสไปตลอดอายุขัยของเรา ที่สำคัญที่สุด คือ การปกป้องดูแลตั้งแต่ก่อนเป็นโรค ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้สายตาที่มากเกินควร การสวมแว่นป้องกันยูวีและแสงสีฟ้า ไม่ว่าจะออกไปในที่แจ้งหรือใช้สายตาหน้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงการได้รับสารอาหารที่มีส่วนช่วยบำรุงดวงตาค่ะ
อย่าลืมว่า เพราะดวงตาของเรามีเพียงคู่เดียว ถ้าขาดดวงตาไป เราจะไม่สามารถเห็นโลกที่สดใสได้นะคะ
เขียนโดน แพทย์หญิงฉัตรดาว จางวางกร
แพทย์หญิงฉัตรดาว จางวางกร
แพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว
แพทย์วิทยาการชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ